วัดพระทอง หรือ วัดพระผุด เป็นวัดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงวัดหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ที่มาของชื่อ “วัดพระผุด” มาจากที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปที่โผล่จากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ พระเจ้าปะดุง แม่ทัพพม่า ยกทัพมาตีเมืองถลาง ทหารพม่าพยายามที่จะขุดพระผุดเอากลับไป แต่เมื่อลงมือขุดก็เจอกับฝูงแตนไล่ต่อย จนต้องล้มเลิก ต่อมาชาวบ้าน ได้นำทองหุ้มพระพุทธรูป ที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ นอกจากนี้ยังมีตำนานสมัยก่อนเล่าว่า มีเด็กผู้ชายคนนึงจูงควายไปกลางทุ่งตามคำสั่งพ่อแม่ ไปเจอกับหลักอยู่หลักหนึ่ง โดยหารู้ไม่ว่า เป็นหลักอะไร แต่ก็นำควายมา ผูกไว้กับหลักนั้น และไปวิ่งเล่นตามประสา ตกเย็นกลับถึงบ้าน เด็กก็ล้มเจ็บไข้และตายไป ส่วนควายก็ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ พ่อของเด็กฝันถึงสาเหตุที่ลูกชายและควายตาย เพราะลูกชายไปผูกเชือกล่ามควายไว้กับพระเกตุมาลา รุ่งขึ้นจึงไปดู ก็ตรงกับที่ฝัน จากนั้นชาวบ้านจึงได้ไปเรียนให้ท่านเจ้าเมืองได้ทราบ เจ้าเมืองถลางสั่งให้ขุด แต่เกิดความมหัศจรรย์ มีตัวต่อแตนออกมาอาละวาด เจ้าเมืองจึงสั่งให้จัดเป็นสถานที่กราบไหว้ มุงหลังคาเพื่อกันแดดและฝน ชาวบ้านเรียกว่า " พระผุด" ต่อมาได้มีชีปะขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง และรู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางทุ่งนา ท่านกลัวโจรผู้ร้ายจะขโมยไปขาย จึงชักชวนชาวบ้านแถบนั้นไปเก็บเปลือกหอยมาเผาไฟทำเป็นปูนขาวผสมกับทรายโบกปิดทับเอาไว้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราชได้เสด็จประภาสจังหวัดภูเก็ต และได้เสด็จทอดพระเนตรพระผุด ได้ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "การก่อสร้างพระพุทธรูปสวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน มีแต่พระเศียรกับพระองค์เพียงครึ่งทรวง เพื่อให้ดูเหมือนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ฝีไม้ลายมือการทำก็กระนั้นแหล่ะ แต่ต้องชมว่าเขากล้า มีคนน้อยคนที่กล้าทำพระเล่นแค่ครึ่งองค์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องยอมรับว่าเป็นของควรดูอย่างยิ่ง" พระบรมโอรสาธิราชได้ทรงพระราชทานนามวัดนี้ว่า "วัดพระทอง"